• Share |
  • กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum



          กล้วยไม้สกุลเข็ม (Ascocentrum) นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้อีกชนิดของไทยที่ชอบแสงแดดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มแสด ที่สามารถทนสภาพแสงได้ถึง 100% และยังเป็นสกุลเข็มที่ให้ดอกเก่งสีจัดและสวยงามมากชนิดหนึ่งของไทย
         ด้วยความทนร้อนที่น่าเหลือเชื่อประกอบกับสีสันที่โดดเด่นสะดุดตามาแต่ไกล กล้วยไม้สกุลเข็ม จึงเป็นที่นิยมในการทำลูกผสมเข้ากับกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่ชอบอยู่อากาศเย็น กลายเป็นลูกผสมสีสดชื่อดังมากมายจนลือชา

    กล้วยไม้สกุลเข็ม แม้เราจะเรียกชื่อเหมือนกับว่าเป็นอีกหนึ่งสกุลของกล้วยไม้ แต่แท้จริงแล้ว กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนดา (Vandaceous Orchid) ที่มีขนาดเล็ก เท่านั้นเองครับ

    กล้วยไม้สกุลเข็ม มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนดา สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น การเรียงตัวของใบเป็นแบบซ้อนทับกัน รูปร่างของใบแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่งใบแบน ใบค่อนข้างจะอวบน้ำ และแบบที่สองเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ รากเป็นระบบรากอากาศ ช่อดอกจะออกที่ตาตามข้อของลำต้นระหว่างใบต่อใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกหลายดอก ดอกมีขนาดเล็ก ดอกหันหน้าออกรอบด้าน กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ปากขยับไม่ได้ ใต้ปากมีเดือยเป็นถุงยาว เดือยมีขนาดสั้นกว่ารังไข่และก้านดอก เส้าเกสรอ้วนสั้นไม่มีฐาน กลุ่มเรณูกลมมี 2 ก้อน กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดดอกมีรูปร่างคล้ายกันแต่แตกต่างกันในเรื่องสี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสดใส เช่น สีแดงอมส้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เมื่อต้นกล้วยไม้มีอายุมากขึ้น หรือเมื่อยอดหักหรือยอดเน่าตาที่อยู่ด้านล่าง ๆ ของลำต้นจะแตกหน่อออกมา ทำให้เกิดมีหลาย ๆ ยอดได้ด้วยลักษณะและสีสันที่สดใสของดอกดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม เป็นราชินีของกล้วยไม้ประเภทแวนดาแบบกระเป๋า

    Highslide JS
    ภาพตัวอย่างของ กล้วยไม้สกุลเข็ม แสด

    จากการสำรวจพบว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่มีอยู่ในโลกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา จีน พม่า ไทย ประเทศในแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อได้พิจารณาทางหลักภูมิศาสตราของอาณาบริเวณที่ปรากฏกล้วยไม้เหล่านั้นตามธรรมชาติแล้ว ก็น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิด กล้วยไม้สกุลเข็ม สำหรับในประเทศไทยนั้นปรากฏว่า กล้วยไม้สกุลเข็ม มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทุกภาคบางภาคอาจมี กล้วยไม้สกุลเข็ม หลายชนิด แต่บางภาคอาจมีเพียงชนิดเดียว
         ในประเทศไทยเราพบว่ามี กล้วยไม้สกุลเข็ม ปรากฏตามธรรมชาติอยู่ 4 ชนิด คือ เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) และแอสโคเซ็นตรัม เซมิเทอเรตติโฟเลียม (Ascocentrum semiteretifolium - ยังไม่มีชื่อภาษาไทย)


    ลักษณะเฉพาะของแต่ละชนิด

    Highslide JS
    ภาพตัวอย่างของ เข็มแดง
    ดอกของเข็มแดงบนต้นไม้
    ภาพตัวอย่างเข็มแดงจากเว็บ flickr.com โดยคุณ b_inxee

    เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) ถิ่นกำเนิดของเข็มแดงในประเทศไทย คือบริเวณเริ่มตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ต่ำลงไปถึงจังหวัดตากและกาญจนบุรี พบในป่าที่มีระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในฤดูฝนความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง แต่ในฤดูแล้วความชื้นในอากาศอาจจะลดลงเหลือเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศพบว่าเข็มแดงมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย ผ่านมาทางประเทศพม่าจนถึงประเทศไทย ลำต้นของเข็มแดงเมื่อสูงถึงประมาณ 20 เซนติเมตร มักจะพบว่าโค้งลงเพราะทรงตัวไม่ได้ และจะมีหน่อเกิดขึ้นทางส่วนล่าง ๆ ของลำต้น ใบค่อนข้างแคบ โค้ง เรียว และยาวที่สุดในบรรดา กล้วยไม้สกุลเข็ม ทุกชนิดที่พบในประเทศไทยด้วยกัน ความยาวของใบประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ค่อนข้างจะอวบน้ำ ใบเป็นสีเขียวอ่อน อ่อนกว่าสีของใบเข็มม่วงและเข็มแสดในระหว่างฤดูแล้วขอบของใบจะปรากฏเป็นจุดสีม่วงขึ้นประปราย และเมื่อความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นจุดสีม่วงบนใบก็จะมีหนาแน่นยิ่งขึ้น ฤดูออกดอกอยู่ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ต้นที่กำลังให้ดอกอาจมีดอก 3-4 ช่อในเวลาเดียวกัน ต้นที่โต ๆ จะให้จำนวนช่อดอกมากขึ้น ช่อดอกตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร หรือกว่านั้น กลีบดอกบานเปิดเต็มที่ดอกมีสีแดงอมสีส้มสดใส บานทนนับเป็นสัปดาห์


    Highslide JS
    ภาพตัวอย่างของ เข็มม่วง
    ลักษณะของต้นและดอกของเข็มม่วง
    ดอกของเข็มม่วง
    ดอกเข็มม่วง ที่สวนชิเนนทร
    ดอกของเข็มม่วง ที่สวนชิเนนทร
    เข็มม่วงเผือก ดอกสีขาว ที่สวนชิเนนทร

    เข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มม่วงปรากฏตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี พบอยู่ในบริเวณเดียวกันกับเข็มแดง แต่อยู่ในระดับความสูงมากกว่าเข็มแดง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล พม่า จีน และลาว ตเข็มม่วงมีทรงต้นตั้งแข็งอาจมีความสูงได้ถึง 25 เซนติเมตร ใบเป็นประเภทใบแบน ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบค่อนข้างแข็ง ไม่โค้งมากนัก ปลายใบตัดและเป็นฟันแหลม ๆ ไม่เท่ากันหลายฟัน ใบมีสีเขียวคล้ำ ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งจะปรากฏจุดสีม่วงเล็ก ๆ บนใบโดยทั่วไป โดยเฉพาะใบที่อยู่ใกล้ ๆ ยอด ยิ่งแห้งแล้งมากจุดสีม่วงจะยิ่งเด่นชัดขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นช่อตั้งรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่อ ประมาณช่อละ 30 ดอก ก้านช่อค่อนข้างสั้น


    Highslide JS
    ภาพตัวอย่างเข็มแสด
    ช่อดอกของเข็มแสด
    ลักษณะของลำต้นและการแทงช่อของเข็มแสดที่อาศัยบนต้นไม้
    ฟอร์มของดอกเข็มแสดในธรรมชาติ
    ฟอร์มดอกเข็มแสดทั่วไป
    เข็มแสดต้น AM ที่สวนชิเนนทร

    เข็มแสด (Ascocentrum miniatum) เข็มแสดเป็น กล้วยไม้สกุลเข็ม ที่พบว่ามีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติไปทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ทางภาคเหนือพบที่จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่จังหวัดนครราชสีมา เลย อุดรธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร ต่ำลงไปทางภาคกลางพบที่จังหวัดจันทบุรี ทางภาคใต้พบที่จังหวัดพังงา และสตูล ในลักษณะภูมิประเทศทั้งที่ราบและที่เป็นภูเขา เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติกว่างขวาง จึงสามารถปลูกเลี้ยงให้เจริญงอกงามและออกดอกได้สม่ำเสมอตามฤดูกาลในทุกภาคของไทย ลำต้นของเข็มแสดสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ต้นที่เจริญเติบโตมาก ๆ อาจสูงถึง 30 เซนติเมตร และมีหน่อที่โคนต้นหลายหน่อ ใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร โค้งเล็กน้อย ใบซ้อนชิดกันใบมีสีเขียวแก่ มีลักษณะหนา อวบน้ำ ปลายใบหยักเป็นฟันแหลม ๆ เล็กน้อยอาจจะมีจุดสีม่วงคล้ำบนแผนใบและขอบใบเมื่อกระทบสภาพแห้งแล้งเช่นเดียวกับเข็มแดงและเข็มม่วง ช่อดอกเป็นแบบช่อตั้ง ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร รูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ประมาณช่อละกว่า 50 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก้านดอกยาวเรียวมีความยาวประมาณ 1.0 เซนติเมตร กลีบนอกและกลีบในของดอกมีขนาดประมาณ 3 x 6 มิลลิเมตร ปากกระเป๋าและเดือยยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร กลีบดอกค่อนข้างหนา ผิวเนื้อกลีบ (Texture) เป็นมันมีสีส้มสดใส หรือสีเหลืองส้มสะดุดตามาก ฤดูออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ดอกบานทนไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์


    เข็มชมพู (Ascocentrum semiteretifolium)เข็มชมพู เป็น กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดเดียมที่มีใบเป็นแบบใบกลม แต่มีร่องลึกทางด้านบนของใบ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกสีม่วงอ่อน
         เนื่องจากกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะของต้นและสีของดอกไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักกล้วยไม้ทั่วๆ ไป ประกอบกับเป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างจะหายาก ทำให้ไม่มีผู้นิยมปลูกเลี้ยงกันมากนัก

    กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดสุดท้ายนี้ นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้หายากมากชนิดหนึ่งของไทย ในอดีตผมเองได้พบกับ กล้วยไม้สกุลเข็ม ชนิดนี้เพียงครั้งเดียวขณะเดินทางอยู่บริเวณทุ่งหญ้าซาวานาที่กิ่วแม่ปานบนยอดดอยอินทนนท์ ขนาดลำต้นนั้นเล็กเกาะบนยอดไม้สูงโปร่ง ต้นตั้งตรงรับแสงแดด 100% เต็ม หากนำเข็มชนิดนี้มาปลูกเลี้ยงในพื้นราบ จะพบว่า กล้วยไม้จะค่อย ๆ ตาย เนื่องจากนิสัยชอบแสงแดดที่จัดแต่ไม่ชอบอากาศร้อน การนำเข็มชนิดนี้มาปลูกบนพื้นราบที่อากาศร้อนและต้องได้รับแสงแดดเต็มที่นั้นเป็นไปไม่ได้ จึงไม่ขอแนะนำให้หามาเลี้ยงครับ

    กล้วยไม้ลูกผสมของสกุลเข็ม กล้วยไม้สกุลเข็ม นอกจากดอกจะมีสีสันสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในประเภทแวนดาด้วยกันแล้ว ยังมีช่อดอกแข็มชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกประดับแน่นช่ออย่างเป็นระเบียบ ตามปกติในต้นเดียวกันจะให้ดอกพร้อมกันหลาย ๆ ช่อ เป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย นักผสมพันธุ์กล้วยไม้จึงจัดการผสม กล้วยไม้สกุลเข็ม ข้ามสกุลกับกล้วยไม้ในประเภทแวนดา เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง สกุลรีแนนเธอราผลปรากฏว่าได้ลูกผสมที่มีสันสวยงามผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป ออกดอกยิ่งขึ้น ดอกบานทนยิ่งขึ้น มีดอกตลอดทั้งปีไม่เป็นฤดูกาล และปลูกเลี้ยงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา ซึ่งมีสายเลือดของสกุลเข็ม
    กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอสโคเซ็นดา (Ascocenda)
    กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลช้าง เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลรินโคเซ็นตรัม (Rhynchocentrum)
    กล้วยไม้สกุลเข็ม ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลรีแนนเธอรา เกิดเป็นกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแอริโดเซ็นตรัม (Anridocentrum) เป็นต้น

    กล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดาที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายมากก็เป็นลูกผสมระหว่างเข็มแดงกับกล้วยไม้สกุลแวนดาประเภทใบแบนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กล้วยไม้แอสโคเซ็นดา มีดา อาร์โนลด์ (Ascocenda Meda Arnold) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างกล้วยไม้แวนดา รอธไชล์เดียนา (Vanda Rothschildiana) กับเข็มแดง แต่ละต้นให้ดอกที่มีสีสันแตกต่างกัน ตั้งแต่สีแดงไปจนถึงสีน้ำเงินและกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้ได้มีการผสมกลับไปกลับมาอีกหลายระดับ ระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับเข็มแดง หรือระหว่างกล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดากับกล้วยไม้สกุลแวนดาต้นเดิม หรือต้นอื่น ทั้งนี้เพื่อให้สีของดอกสดใสยิ่งขึ้นหรือดอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่อดอกยาวขึ้น หรือมีลักษณะแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างอื่นมากขึ้นอีก

    ยังมีกล้วยไม้อีกหนึ่งชนิดที่เราเรียกกันจนติดปากว่า "เข็มขาว" จริง ๆ แล้วเข็มขาวเป็นกล้วยไม้กลุ่มสกุล แวนดา ครับ ไม่ใช่ เข็ม Ascocentrum

    คุณสามารถดาวน์โหลดเว็บเบราว์เซอร์ด้านล่างนี้เพื่อการแสดงผลที่ดีของเว็บ orchidtropical.com

    safari safari safari safari

    ออคิดทรอปิคอล เรา ดูแล กล้วยไม้ ด้วยใจ ทุกๆเช้ามืดเราจะรดน้ำ กล้วยไม้ ของเราด้วยน้ำที่สะอาดผ่านการกลั่นกรองเก็บไว้ในถัง เดินรดเองตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้แน่ใจว่า กล้วยไม้ ทุกต้นจะได้รับน้ำอย่างเต็มอิ่ม และทุกๆหนึ่งวันของสัปดาห์ตอนเช้ามืด เราจะปรุงอาหารสูตรพิเศษและฉีดพ่นให้กับ กล้วยไม้ ของเราเพื่อให้เค้าได้มีสุขภาพที่ดีและเบ่งบานได้อย่างสวยงามสมคำล่ำลือ ราชินีแห่งมวลไม้ดอก และทุกๆวันเราจะเดินชมสวนของตัวเองเพื่อหยิบ หนอน แมลงตัวร้ายออกจาก กล้วยไม้ ของเราเพื่อให้เค้าได้มีใบที่สวยงาม ณ .เว็บไซค์ กล้วยไม้ แห่งนี้ เรายินดีให้คำปรึกษาและแบ่งปัญประสบการณ์เรื่องราว กล้วยไม้ ให้กับผู้ที่หลงไหล กล้วยไม้ เช่นเดียวกับเราและคอยให้กำลังใจให้กับผู้เริ่มปลูก กล้วยไม้ ใหม่ และนอกเหนือจากร้านค้า กล้วยไม้ ออนไลน์แล้ว เรายังมีบทความสาระน่ารู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยง กล้วยไม้ หลากหลาย บรรยายด้วยเนื้อหาสนุกสนานไม่วิชาการร้อยเรียงเรื่องราว กล้วยไม้ โดยทีมงานของเรา อีกทั้งห้องภาพ กล้วยไม้ ที่ตระเตรียมไว้เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและเห็นภาพดอกของ กล้วยไม้ นานาพันธุ์ที่รวบรวมคัดสรรค์ผลงานมาเป็นพิเศษ ออร์คิดทรอปิคอล เรา กันเองครับ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในเรื่อง กล้วยไม้ แล้วละก็ มาลองเดินไปพร้อม ๆ กับเราสิครับ แล้วคุณจะรู้ว่า กล้วยไม้ มีอะไรแปลกใหม่ให้ค้นพบอีกมากมาย จนคุณอาจคิดไม่ถึงก็เป็นได้ Orchidtropical กล้วยไม้ เมืองร้อน เว็บ กล้วยไม้ไทย เพื่อคนรัก กล้วยไม้ โดยเฉพาะ
    ©2010 Orchidtropical.com all right reserved.

    Link exchange :

  • Thaiphoto
  • |
  • พืชผัก
  • |
  • กล้วยไม้ไทย
  • |
  • TJorchid
  • |
  • ข่าว IT
  • |
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้า
  • |