ลักษณะของกล้วยไม้ (STRUCTURE OF THE ORCHIDS)
กล้วยไม้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่น เดียวกับพวก หญ้า ขิง ข่า ฯลฯ ลำต้นและใบมักอวบน้ำ ลำต้นมักมีข้อและ ปล้องชัดเจน ไม่มีเนื้อไม้ จึงไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นไม้ยืนต้น เช่นพืชใบเลี้ยงคู่ได้ กล้วยไม้แทบทุกชนิดเป็นพืชขนาดเล็กหรือเล็กมาก เมื่อเทียบกับพืชวงศ์อื่นๆ บางชนิดเป็นพืชล้มลุก บางชนิดมีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน สร้างใบหรือดอกเพื่อแพร่พันธุ์ในฤดูกาลที่เหมาะสม ก่อนลงหัวหรือยุบตัวเพื่อพักตัวในฤดูแล้งส่วนบางชนิดมีการเจริญเติบโตต่อเนื่องไปเรื่อยๆอาจเจริญทางยอดหรือแตกต้นใหม่จากตาข้างซึ่งอาจเรียกได้ว่ากล้วยไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน อายุยืน
กล้วยไม้แยกเป็น 2 จำพวกใหญ่โดยดูจากสภาพการขึ้นอาศัย อันได้แก่ กล้วยไม้ดิน
(Terrestrail Orchid) ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นป่า และกล้วยไม้อากาศ (Epiphytic Orchid) ที่ขึ้นเป็นพืช อิงอาศัยเกาะตามกิ่งไม้ หรือ บนโขดหิน (Lithophytic Orchid) ซึ่งกล้วยไม้อากาศจะพัฒนาระบบราก ที่สามารถเกาะบนผิววัตถุ เช่นเปลือกไม้ ซอกหิน และอิงอาศัยเพียงดูดกินธาตุอาหาร ที่ละลายปนมากับน้ำค้าง น้ำฝน โดยมิได้รบกวนเบียดเบียนดูด น้ำเลี้ยงจากพืชที่ให้อาศัยเหมือนพวก “พืชกาฝาก” (Parasitic Plant) นอกจากนี้กล้วยไม้บางชนิดยังใช้ส่วนรากทำหน้าที่สังเคราะห์ อาหารด้วยแสง เช่นเดียวกับใบได้อีกด้วย
ดอกของพืชวงศ์กล้วยไม้ มีลักษณะพิเศษต่างจากดอกของพืชวงศ์อื่นๆ ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นหลักสำคัญในการจำแนก กล่าวคือ ดอกกล้วยไม้ทุกชนิด มีกลีบนอก หรือกลีบเลี้ยง (sepal) จำนวน 3 กลีบ แต่ในกล้วยไม้ บางชนิด กลีบนอกนอกนี้ อาจเชื่อมติดกัน หรือลดรูปลดจำนวนลง แต่มีเป็นส่วนน้อย ส่วนกลีบดอก หรือกลีบใน (petal) มี 3กลีบ โดยกลีบหนึ่งแปลงรูปไปเป็นกลีบปาก หรือกระเป๋า (lip/ labellum)
ก้านเกสรทั้งเพศผู้ เพศเมีย รวมเป็นอันเดียวกันอยู่กลางดอกเรียกว่า เส้าเกสร(column) รังไข่ของกล้วยไม้อยู่ใต้ส่วนล่างของดอก ไข่ (ovule) อยู่เรียงกันบน รก (placenta) ซึ่งมีอยู่ 3 แถว ยาวไปตามแนวผนังรังไข่ เมื่อไข่ได้รับ การผสม ก็เจริญขึ้นเป็นเมล็ด และเมื่อผลแก่จัดก็จะแตกแยกกัน ตามรอยประสานทั้งสามบนฝักกล้วยไม้ ปล่อยให้ผงเมล็ดปลิวแพร่กระจายไปตามกระแสลม เมล็ดกล้วยไม้มีขนาดเล็กมากๆ ผลหนึ่งๆ อาจมีเมล็ดกล้วยไม้หลายพันหลายหมื่นเมล็ด
ละอองเรณู ของกล้วยไม้มิใช่เป็นผงธุลีดังเช่น ของพันธุ์ไม้อื่นๆ เว้นแต่กล้วยไม้บางชนิด ในจำพวกกล้วยไม้ดิน “นางอั้ว”( Habenaria spp.) แต่ส่วนใหญ่ในกล้วยไม้ทั่วๆไป ละอองเกสรจะรวมกันเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า กลุ่มเรณู (pollinia) กลุ่มเรณูหนึ่งๆจะมีเรณูจำนวนหลายพัน อับเรณู หนึ่งๆจะมีกลุ่มเรณูจำนวน 2,4 ,6 หรือ 8 กลุ่มสุดแล้วแต่ชนิดกล้วยไม้ กลุ่มเรณู แต่ละกลุ่มนี้ต่างก็มีติ่ง(appendag) เชื่อมติดกัน บางที ก็ติดอยู่ที่ปลายก้าน อันเกิดมาจากเยื่อบุภายในตุ่มเกสรนั้น ก้านนี้เรียกว่า ก้านกลุ่มเรณู (caudicle / stip) ลักษณะการวางรวมกลุ่มเรณูนี้เป็นลักษณะ สำคัญประการหนึ่ง ที่ใช้จำแนกพันธุ์กล้วยไม้ ช่องว่างภายในอับเรณู อันเป็นที่ตั้งของลุ่มเรณูนี้เรียก ว่า ไคลแนนเดรียม(clinandrium) ช่องว่างนี้มักมีฝาครอบปิดด้านหน้าเรียกว่า ฝาอับเรณู(anther cap /operculum) ด้านใต้ของช่องอับเรณูมักเป็นที่ตั้งของ แอ่งเกสรเพศเมีย (stigma) ส่วนต่างๆดังกล่าวนี้เกิดอยู่ที่ปลายเส้าเกสร
จากข้อเท็จจริงที่ได้ปรากฏว่า รังไข่ของกล้วยไม้มีปริมาณไข่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล จึงย่อม ต้องการเรณูเกสรจำนวนเท่าๆกัน มาผสม ฉะนั้นถ้าหากกล้วยไม้มีเรณู เป็นผงละอองเหมือนเช่นพันธุ์ไม้อื่นๆแล้ว การอาศัยแมลงช่วยผสมพันธุ์ ย่อมไม่ได้ผล สมความมุ่งหมายของธรรมชาติ
เพราะแมลงไม่สามารถนำกลุ่มเรณู จำนวนมากมายนี้ไปได้ในคราวเดียวกัน จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้อง ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มเรณูขึ้น ซึ่งแมลงสามารถนำกลุ่มเรณู ไปผสมพันธุ์ได้อย่างพอเพียงในคราวหนึ่งๆ ทว่าการ
รอคอยให้แมลงที่บังเอิญบินผ่านมาเจอ ดอกกล้วยไม้ก็คงไม่ได้ผลเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงเห็นกลไก ที่น่าทึ่งบางอย่างซึ่งเกิดจากการวิวัฒนาการอันมหัศจรรย์ โดยที่กล้วยไม้จะปรับส่วนของดอกขึ้นเพื่อดึงดูดให้แมลงช่วยนำเกสร ไปผสมกับดอกอื่นๆ และยังมีวิธีช่วยให้กลุ่มเกสรติดไปกับตัวแมลงที่เข้ามาไต่ตอมต่างรูปแบบกันไป
หากพิจารณาดู เราอาจแบ่งวิธีการดึงดูดแมลงของดอกกล้วยไม้เป็นสองรูปแบบ อย่างแรกคือดอกกล้วยไม้ที่ให้รางวัลล่อใจแก่แมลง อย่างที่สองคือดอกกล้วยไม้ที่หลอกลวงแมลงโดยไม่ให้สิ่งตอบแทน
ในรูปแบบแรกกล้วยไม้จะสร้าง “ อาหาร ” ล่อแมลงเข้ามาไต่ตอม อาหารในที่นี้อาจเป็นน้ำหวาน หรือเนื้อเยื่อพิเศษที่คล้ายเรณู บริเวณกลีบปาก หรืออาจอยู่ในรูปน้ำมันหอมระเหย ซึ่งพบได้ในดอกกล้วยไม้หลายสกุล เช่น สกุลหวาย(Dendrobium spp.) สกุลกุหลาบ (Aerides spp.) สกุลสามปอย(Vanda spp.) และสกุลเอื้องใบหมากบางชนิด (Ceologyne spp.)
ในรูปแบบที่สอง ดอกกล้วยไม้ มีกลไกบางอย่างเพื่อลวงแมลงให้เข้ามาช่วยผสมเกสร ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ เช่น เลียนแบบรูปทรงสีสัน ในดอกให้คล้ายกับดอกเห็ด เพื่อล่อพวกแมลงวันให้เข้ามาไต่ตอม และพยายามวางไข่ที่ดอกกล้วยไม้ บางชนิดอาจเลียนแบบด้วยสีและกลิ่นให้คล้ายกับซากเนื้อเน่าอย่างเช่นดอกกล้วยไม้ในสกุลTrais และBulbophyllum บางชนิด
และกลิ่นอาจดูเป็นเทคนิคธรรมดาไปทันทีเมื่อเทียบกับกลไก “ปลอมตัว”มีกล้วยไม้จำนวนไม่น้อยที่แปลงรูปทรงกลีบดอก ให้ดูคล้ายแมลงผู้ผสมเกสร ในบางกรณีกลีบดอกอาจดูคล้ายแมลงเพื่อท้าทายให้แมลงเพศผู้จริงๆเข้ามาต่อสู้ โดยหารู้ไม่ว่ากำลังถูกหลอก ให้เข้ามาผสมเกสรให้กล้วยไม้ แต่ส่วนใหญ่มักแปลงรูปทรงบางส่วนในดอก ให้คล้ายแมลงเพศเมีย เพื่อหลอกให้แมลงเพศผู้เข้ามา “ผสมพันธุ์เทียม”(Pseudocopulation) ซึ่งพบได้ในกล้วยไม้สกุล Bulbophyllum และกลุ่มใกล้เคียง จึงอาจกล่าวได้ว่าพืชวงศ์ กล้วยไม้นั้น มีวิวัฒนาการล้ำหน้ากว่าพืชดอกวงศ์อื่นๆ ลักษณะที่พิเศษอีกประการหนึ่งคือ เมล็ดกล้วยไม้ ไม่มีอาหารสำรองสำรับใช้ในการงอก ขึ้นมาเป็นต้นอ่อนได้เหมือนเมล็ดพรรณไม้อื่นๆทั้งนี้เพราะปริมาณเมล็ด ในแต่ละผลมีเป็นจำนวนมาก เมล็ดกล้วยไม้จึงมีขนาดเล็กเท่าผงธุลี ซึ่งเหมาะแก่การแพร่กระจายพันธุ์โดยอาศัยเพียงกระแสลม เมล็ดกล้วยไม้นั้น เมื่อปลิวไปตกตามเปลือกไม้ โขดหิน หรือพื้นดิน จะมีเชื้อราประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “รารากไม้ ” (Micorrhiza) งอกเข้าไปภายในเมล็ด ราจะย่อยอินทรีย์วัตถุที่อยู่โดยรอบเมล็ดกล้วยไม้ จากนั้นต้นอ่อนกล้วยไม้จะย่อยใช้เชื้อราอีกที เพื่อ เป็นอาหารสำรับการเจริญเติบโตเป็นต้นกล้วยไม้ต่อไป ราจะไม่สามารถทำอันตรายเมล็ดกล้วยไม้ได้เพราะเมล็ดจะมีวิธีการทางชีวเคมี เป็นเครื่องป้องกันตัวได้ อย่างน่าทึ่ง